ติดตั้ง รั้วตาข่าย ด้วยตัวเอง ง่าย ๆ ใคร ๆ ก็ทำได้ ! – ตอนที่ 3 ติดตั้งตาข่าย กับ เสา

มาถึงตอนสุดท้าย สำหรับการติดตั้งรั้วตาข่ายถัก (Chain Link) ซึ่งหลังจากที่เราเตรียมตัว ทำการลงเสาเรียบร้อย ก็เข้าสู่ขั้นตอนที่เราต้องขึงตาข่ายกับเสา เพื่อให้กลายเป็นรั้วตาข่ายที่สมบูรณ์ การ ติดตั้งตาข่าย ในขั้นตอนสุดท้ายจำเป็นเป็นต้องมีผู้ติดตั้งสองคนขึ้นไป เพื่อช่วยกันขึงตรึงตาข่ายกับเสา ดังนั้นใครจะเริ่มขั้นตอนต่อไปนี้ ต้องเตรียมหาเพื่อนมาช่วยกันจับ ช่วยกันถือแล้วละ

ติดตั้งหัวเสา และเสาราวเหล็กด้านบน

เราจำเป็นต้องติดตั้งเสาด้านบนเพื่อเป็นเปรียบเสมือนคานที่ช่วยยึดตาข่ายเพิ่มเติม โดยเสารั้วให้ใส่ที่ติดหัวเสาแบบมีวง ไว้ให้เสาคานที่เตรียมมาใส่ลอดผ่านไปได้จนกว่าจะไปติดกับเสาหลักที่อยู่ที่อีกมุมหนึ่ง ในขณะที่เสาหลักที่อยู่ที่มุม หรือจุดท้ายสุด ให้ใส่ที่ปิดหัวเสาแบบธรรมดา พร้อมกับอุปกรณ์ สำหรับยึดติดลวดรับแรงดึง และตัวที่เอาไว้ติดเสาระหว่างเสาหลักกับเสาหลัก

  

จากนั้นหลังจากที่เราจัดการส่วนของหัวเสาเรียบร้อย จึงเริ่มติดตั้งราวเหล็กด้านบน โดยการนำเสาลอดผ่านระหว่างเสาถึงเสา ผ่านในส่วนของเสารั้ว โดยคอยคำนึงให้ราวเหล็กต้องสูงเท่ากัน และสูงพอให้ตาข่ายสามารถติดตั้งได้ไม่ติดพื้น หลังจากติดตั้งเสาและหัวเสาเรียงตรงเรียบร้อยจึงขันสลักและน็อตให้แน่น

 

ติดตั้งเสาจนครบทุกต้น จากนั้นจึงเริ่มไปสู่ขั้นตอนต่อไป

ติดตาข่าย กับ เสา

สำหรับวิธีแบบตะวันตกในการยึดตาข่ายกับเสา จะใช้วิธีการนำตาข่ายติดกับแท่งเหล็ก และแท่งเหล็กจะถูกยึดกับตัวอุปกรณ์ที่ติดอยู่กับเสาหลักเป็นอุปกรณ์คู่กัน (Tension Bar & Tension Band) โดยเราจะนำตาข่ายถัก หรือตาข่ายข้าวหลามตัด มายึดโดยเริ่มจากสอดแท่งเหล็กผ่านตาข่ายในแนวตั้ง จากนั้นจึงนำแท่งเหล็กไปยึดติดกับส่วนของที่ยึดอยู่กับเสาหลัก แล้วขันน็อตให้แน่น ในขั้นตอนนี้อาจต้องการคนมาช่วยตั้งตาข่ายกับเสา พร้อมที่จะไปสู่ขั้นตอนต่อไป

 ติดตั้งตาข่าย กับ เหล็กรับแรงดึง        

ในขณะนี้ ตาข่ายจะติดกับเสาหลักด้านหนึ่ง และอีกด้านจะเป็นม้วนตาข่าย ให้เริ่มทำการคลี่ม้วนตาข่าย ให้ติดกับแนวเสา หากตาข่ายหมด สามารถต่อตาข่ายข้าวหลามตัดได้โดยการปลดด้านบน กับด้านล่างของตัวตาข่ายออกแล้วทำการหมุนเชื่อมตาข่ายสองตัวให้เชื่อมกัน เป็นการต่อตาข่ายแล้วจึงคลี่จนถึงเสาอีกต้น

ยึดตาข่ายให้ตึงกับเสาทีละเสา โดยการเช็คว่าตาข่ายตึงพอหรือไม่ คือ เมื่อออกแรงดึงตาข่าย ไม่ควรที่ตาข่ายจะขยับเกิน 2 หุน (1/4″) ยึดให้แน่นด้วยลวดผูก โดยผูกกับราวเหล็กด้านบน และเสารั้ว

          

ทำแบบนี้ซ้ำจนถึงสุดถึงเสาหลักอีกต้น จากนั้นจึงถอดตาข่ายให้พอดีกับเสาหลักสุดท้าย แล้วยึดตาข่ายกับเหล็กรับแรงดึงตัวที่สอง แล้วนำไปติดกับเสาหลักสุดท้ายเป็นอันเสร็จสิ้น

ทางเลือกการติดตั้งเพิ่มเติม

สำหรับวิธีการเพิ่มเติมอย่างแรกก็คือ แทนที่จะใช้เหล็กรับแรงดึงยึด ในแบบฉบับที่นิยมมากกว่า อาจจะใช้การเชื่อมเพื่อยึดระหว่างเสาถึงเสาแทนได้ ซึ่งอาจจำเป็นต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญ หรือช่างมาติดตั้งให้

อีกทางเลือกในการติดตั้งเพื่อเสริมความแข็งแรง คือบางการติดตั้งจะติดตั้งลวดรับแรงดึงในแนวขวางด้วย เพื่อรับแรงที่อาจทำให้ตาข่ายกระพรือด้านข้างได้

 

 

ติดตั้ง รั้วตาข่าย ด้วยตัวเอง ง่าย ๆ ใคร ๆ ก็ทำได้ !

ตอนที่ 1 มือใหม่ อยากทำรั้ว
ตอนที่ 2 ลงหลัก ปักฐาน ตั้งเสารั้ว
ตอนที่ 3 ติดตั้งตาข่าย กับ เสา

ตั้งเสารั้วตาข่าย

ติดตั้ง รั้วตาข่าย ด้วยตัวเอง ง่าย ๆ ใคร ๆ ก็ทำได้ ! – ตอนที่ 2 ลงหลัก ปักฐาน ตั้งเสาหลัก ตั้งเสารั้ว

รั้วตาข่ายคงจะเป็นรั้วตาข่ายไม่ได้ ถ้าหากว่าไม่มีเสา ไม่เช่นนั้นเราจะเอาตาข่ายไปแขวน ไปติดกับอะไรล่ะ! เมื่อทุกคนกำหนดบริเวณที่จะสร้างรั้วได้แล้ว ก็ถึงเวลา ตั้งเสารั้ว งานนี้อุปกรณ์ทุกคนพร้อมรึยัง เพราะเราจะมีการขุด! เทปูน! ลงเสา! ฟังดูหฤโหดแต่ไม่ยากอย่างที่คุณคิด แม้จะต้องออกแรงเหนื่อยแต่รับรองว่าผลลัพธ์ต้องคุ้มค่ากับการลงทุนลงแรงแน่นอน

ติดตั้งเสา : ตั้งเสาหลัก

บ้านก็ยังต้องมีเสาหลักค้ำจุน รั้วก็ต้องมีเสาหลักที่จะยึดรั้วไว้ในจุดริมสุดรั้ว มุมรั้ว และประตูรั้ว การติดตั้งเสาไม่ใช่แค่สำหรับแค่รั้วตาข่ายเท่านั้น สำหรับคนอยากติดตั้งรั้วลวดหนามก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เหมือนกันนะ

ความสูงเสาหลัก

ตอนเราหาเสาหลักที่จะมาใช้ สำคัญคือเราต้องหาเสาความสูงพอเหมาะกับความสูงจากพื้นของตัวตาข่ายที่เราต้องการ แต่จะให้เสาสูงพอดีกับความสูงรั้วเลยก็ไม่ได้นะ เพราะอย่าลืมว่าเราต้องมีส่วนที่ปักลงไปใต้ดินด้วย ถ้าปักไม่ลึกพอเสาอาจจะไม่มั่นคงแล้วล้มมาได้ สำหรับใครที่ไปซื้อวัตถุหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญมา น่าจะได้เสาที่เหมาะสมสำหรับงานเฉพาะของคุณแล้ว

ขั้นตอนการคำนวนความสูงเสาหลัก

  1. คำนวนความยาวของเสาเหนือพื้นดิน เสาควรจะสูงเหนือพื้นเท่ากับ หน้ากว้างของตาข่าย + 2 นิ้ว (5.1 เซนติเมตร) สำหรับใส่ที่ปิดหัวเสาในอนาคต เมื่อคำนวนตรงนี้ได้ควรขีดเส้นกำกับตำแหน่งเหนือพื้นดินไว้กับเสา
    • ความยาวเสาเหนือพื้นดิน = หน้ากว้างของตาข่าย + 2 นิ้ว (5.1 เซนติเมตร)
  2. คำนวนความยาวของเสาที่ปักลงไปใต้ดิน สามารถให้ลงลึกลงไปตามที่ต้องการ แต่ความยาวของเสาที่ลงไปใต้ดินแนะนำให้ลงไปประมาณ 1 ใน 3 ของความยาวเสาทั้งหมด
    • ความยาวเสาใต้ดิน = ความสูงเสาเหนือพื้นดิน x 1/3
  3. ความยาวเสาทั้งหมด = ความยาวเสาเหนือพื้นดิน + ความยาวเสาใต้ดิน

ยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เห็นภาพ ถ้ารั้วเราหน้ากว้างสูง 1 เมตร เสาที่เราใช้ต้องสูงกว่า 1 เมตรแน่นอน เพิ่มเติมนิดหน่อยสำหรับที่ปิดหัวเสาและส่วนที่จะปักลงไปใต้ดิน เสาต้องลึกลงไปประมาณ 1 ใน 3 ของความสูง เพราะฉะนั้นเสาที่เราต้องใช้ก็จะประมาณ 1 เมตร + 5.1 เซนติเมตร + 33 เซนติเมตร ก็จะใช้เสาราว ๆ 1.4 เมตร

ขุดหลุมและลงเสา

และแล้วงานที่เราต้องลงมือลงแรงจริง ๆ ก็มาถึง เตรียมเบ่งกล้ามแขน (ถ้าใครไม่มีก็อาจจะมีวันนี้) หยิบอุปกรณ์ที่ใช้ในการขุด ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถเลือกอุปกรณ์ขุดได้ตามใจชอบ จะเครื่องขุด หรือจะจอบก็ได้ทั้งนั้น สำคัญที่เราต้องการหลุมสำหรับลงเสา และการขุดหลุมให้เหมาะสมกับเสา โดยลักษณะของหลุมที่เราควรเตรียมสำหรับลงเสาควรขุดให้เอียงให้ด้านล่างใหญ่กว้างด้านบนเพื่อความแข็งแรงเวลาเทคอนกรีก

เริ่มจากการใส่ก้อนกรวดลงไปก่อนให้ได้ความลึกประมาณ 4 นิ้ว เพื่อเป็นฐานเพิ่มความมั่นคง ให้กับเสาและคอนกรีต เมื่อเสร็จสิ้นแล้วจึงนำเสามาปักลงไป ซึ่งถ้าขุดหลุมไว้ถูกต้อง ตำแหน่งที่เราทำเครื่องหมายกับเสาไว้จะพอดีกับพื้นดิน สำคัญที่เสาเหนือพื้นดินต้องอยู่ในระดับเดียวกัน จากนั้นรักษาตำแหน่งเสาให้ตั้งฉากกับพื้น ใช้คีมและไม้ทำมุมกับพื้นเพื่อค้ำเสาให้อยู่ในตำแหน่งตั้งฉาก จากนั้นจึงเทคอนกรีตลงไปในหลุมจนเต็ม แล้วเก็บรายละเอียดเกลี่ยผิวด้านนอกด้วยเครื่องมือโบกปูนให้เรียบร้อยสวยงาม แต่อย่าลืมว่าเราทำซ้ำให้ครบทุกเสาหลักที่เราทำเครื่องหมายและขุดหลุมไว้นะครับ

ติดตั้งเสา : เสารั้ว

เสาหลักคือเสาที่จะอยู่ริมสุดของรั้วตาข่าย เสารั้วก็เป็นเสาที่อยู่ระหว่างเสาหลัก ซึ่งมีหน้าที่คอยช่วยให้รั้วตาข่ายเป็นแนวตรงไปตลอดทั้งแนวจากเสาหลักหนึ่งถึงเสาหลักหนึ่ง นอกจากนั้นยังช่วยรับแรงเสาหลัก ค้ำยันช่วยไม่ให้ลมพัดรั้วล้ม วิธีการติดตั้งเสาหลักกับเสารั้วจะค่อนข้างใกล้เคียงกัน

ทำเครื่องหมายกำหนดตำแหน่งเสารั้ว

เริ่มต้นเช่นเดียวกันคือเราจำเป็นต้องกำหนดตำแหน่งที่เราต้องการลงเสา แต่ก่อนที่เราจะกำหนดจะต่างกันเล็กน้อยที่เราควรผูกเชือกระหว่างเสาหลักให้ตึง โดยผูกไม่ต้องให้สูงจากพื้นมาก สำคัญที่เชือกที่ผูกกับเสาต้องให้เส้นเชือกอยู่ในตำแหน่งด้านนอกของรั้ว จากนั้นจึงทำสัญลักษณ์เครื่องหมายกำหนดตำแหน่งเสารั้วตามระยะห่างที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำในตำแหน่งด้านในของเชือก ด้วยการทำแบบนี้จะทำให้เสารั้วอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน

ความสูงเสารั้ว และการขุดหลุมลงเสา

ความสูงเสารั้วจะใช้การคำนวนคล้ายเสาหลัก คือคำนวนจากหน้ากว้างของตาข่ายเหมือนกันแต่ต่างที่ ความสูงเหนือพื้นดิน เล็กน้อย
โดยความยาวเสาเหนือพื้นดินของเสารั้วจะน้อยกว่าของเสาหลักอยู่ 2 นิ้ว(5.1 เซนติเมตร)สำหรับที่ปิดหัวเสา ให้พอดีกับบาร์ที่จะใส่ด้านบน ส่วนความยาวเสาใต้ดินก็ใช้การคำนวนเดียวกัน หลังจากคำนวนเสร็จ อย่าลืมขีดเส้นกำกับไว้กับเสา จากนั้นจึงทำการขุดหลุม ลงเสา เช่นเดียวกับขั้นตอนการทำเสาหลัก

เมื่อลงเสาหลักเสร็จหมดแล้ว เราก็ต้องเตรียมติดตั้งเครื่องมือต่าง ๆ ลงเสา แต่สำหรับรายละเอียดขั้นต่อไปคงต้องเก็บไว้สำหรับตอนหน้าแล้วละครับ ลงเสากันเรียบร้อย ก็สบายใจได้แล้วว่าเสร็จไปเกือบครึ่งแล้วละ ตอนต่อไปเตรียมพร้อมมาประกอบอุปกรณ์ต่างๆลงไปในกรอบรั้ว และเสา แล้วเราก็จะเข้าใกล้ฝั่งฝันของรั้วตาข่ายของเราอีกก้าวหนึ่ง

 

 

ติดตั้ง รั้วตาข่าย ด้วยตัวเอง ง่าย ๆ ใคร ๆ ก็ทำได้ !

ตอนที่ 1 มือใหม่ อยากทำรั้ว
ตอนที่ 2 ลงหลัก ปักฐาน ตั้งเสารั้ว

ตาข่ายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ตาข่ายถัก ตาข่ายพีวีซี

ติดตั้ง รั้วตาข่าย ด้วยตัวเอง ง่าย ๆ
ใคร ๆ ก็ทำได้ ! – ตอนที่ 1 มือใหม่ อยากทำรั้ว !

“บ้าน” สถานที่สุดแสนสำคัญของทุกคน เป็นสถานที่อยู่อาศัยของทั้งเรา ทั้งพ่อ แม่ พี่ น้อง คนที่เรารัก สัตว์เลี้ยงตัวน้อย ไหนจะยังมีสิ่งของ และทรัพย์สินมีค่าทั้งหลายที่มีอยู่มากมาย แค่คิดก็น่ากลัวแล้วถ้าหากเราปล่อยให้บ้านไม่มีการป้องกัน  เพราะฉะนั้นเราควรหาทางกันไว้ ก่อนแขกที่ไม่ได้รับเชิญจะแอบเข้ามา วิธีเพิ่มความปลอดภัยสำหรับบ้านก็มีมากมาย ซึ่งวิธียอดนิยมที่ใช้กันทุกบ้าน
ก็คือ “รั้ว” ใช่มั้ยละครับ รั้วที่จะติดตั้งก็มีได้ทั้ง รั้วอิฐเอย รั้วไม้เอย รั้วปูนเอย รั้วลวดหนามเอย แต่วันนี้ผมจะมาสอนวิธีติดตั้งรั้วตาข่ายรั้วที่ติดตั้งง่าย และความปลอดภัยสูง ซึ่งถึงแม้จะติดตั้งง่าย แต่ก็ต้องทำให้ถูกวิธีด้วยนะ เอาละ ! เริ่ม อยากทำรั้ว กันรึยังเอ่ย? เรามาเตรียมตัวทำไปด้วยกันอย่างถูกต้องกันเถอะครับ

เตรียมตัวให้พร้อม

การที่เราจะติดตั้งรั้ว โดยการไปขึงลวด ขึงรั้วทันที คงจะทำไม่ได้ถ้าหากเราไม่รู้ว่าจะใช้ลวดขนาดเท่าไหร่ ยาวเท่าใด ดังนั้นเริ่มแรกสุดของการติดตั้ง เราต้องมาเตรียมตัวกันก่อน เพื่อให้ได้ผลงานตามต้องการ ประหยัดเวลาที่ใช้ในการทำงาน แล้วก็ประหยัดเงินด้วยนะ (จะได้ไม่ไปซื้อวัสดุขาด หรือ เกินไงละ)

 

ทำเครื่องหมายระบุขอบเขตรั้ว

อยากทำรั้ว การวัดเขตพื้นที่

เริ่มจากกำหนดขอบเขตว่าจะสร้างรั้วขนาดเท่าใดภายในที่ดินของคุณ แต่เท่านั้นยังไม่พอ คุณต้องกำหนดโดยคำนึงถึงพื้นที่ใกล้เคียงด้วยนะ ! โดยถ้าจะวางรั้วให้ติดกับขอบของที่ดินของคุณละก็ ต้องวัดให้ขอบเขตรั้วเราอยู่ห่างลึกเข้ามาจากขอบเขตที่ดินของเรา 4 นิ้ว (10.2 เซนติเมตร) เพราะป้องกันไม่ให้ฐานคอนกรีกเราเข้าไปรุกล้ำพื้นที่ภายนอก

 

วัดความยาวโดยรวมของรั้ว

อยากทำรั้ว การวัดความยาวรอบรั้ว

เพื่อกำหนดปริมาณความยาวของรั้วตาข่าย และจำนวนวัสดุอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือ คนขายวัสดุ ถึงจำนวนและขนาดวัสดุ ระยะห่างระหว่างเสาที่เหมาะสมเพื่อคำนวนจำนวนเสาที่ต้องใช้ ส่วนความสูงของเสาควรให้เหมาะสมกับความกว้าง (ความสูงจากพื้น) ของรั้วตาข่ายที่ต้องการครับ

 

ทำเครื่องหมายกำหนดตำแหน่งเสาหลัก

อยากทำรั้ว การทำเครื่องหมายลงเสาหลัก

ก่อนที่เราจะกางตาข่ายเพื่อทำเป็นรั้ว เราต้องมีเสาให้ตาข่ายยึดเกาะ ด้วยการกำหนดตำแหน่งที่จะลงเสากันก่อน ทำเครื่องหมายสัญลักษณะที่คุณสะดวกลงบนตำแหน่งที่จะเป็นริมสุดของรั้ว บริเวณมุมของรั้ว และประตูรั้ว แนะนำให้ทำเครื่องหมายด้วยการปักธง หรือพ่นสีสเปรย์

 

เสร็จเรียบร้อยแล้วครับสำหรับการเตรียมตัวออกสตาร์ท !! เท่านี้เราก็พอจะรู้แล้วว่าใช้เสากี่ต้น ใช้ตาข่ายกว้างยาวเท่าไหร่ เริ่มต้นไม่ยากเลยใช่มั้ยละครับ แต่ถึงเป็นเรื่องดูเล็กน้อย แต่ก็มีความสำคัญนะ เพราะรายละเอียดเล็กน้อยนี้ละจะนำไปสู่ความสำเร็จของรั้วตาข่ายของเราในอนาคตไงละ ! เตรียมเสาแล้วกำเสาของคุณให้มั่นแล้วมาต่อกันในตอนต่อไปนะขอรับกระผม